Decompression Sickness (DCS)
Decompression sickness (DCS) หรือ Bend เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีฟองก๊าซไนโตรเจนสะสมมากเกินไป
อากาศปกติจะประกอบด้วยไนโตรเจนประมาณ 79% และออกซิเจนประมาณ 21% เมื่อเราอยู่ที่ระดับผิวน้ำ ร่างกายเราหายใจปกติภายใต้แรงกดของบรรยากาศที่กระทำต่อพื้นผิวโลก ทำให้ไม่มีการสะสมของก๊าซไนโตรเจน
เมื่อนักดำน้ำไต่ลึกลงเรื่อยๆ ความกดอากาศจะเพิ่มขึ้น ร่างกายเราจะใช้ออกซิเจนเป็นหลัก แต่จะไม่ได้ใช้ก๊าซไนโตรเจนเลย เมื่ออยู่ใต้น้ำนานๆ จึงเริ่มมีการสะสมของก๊าซไนโตรเจนภายใต้สภาวะแรงกด ก๊าซไนโตรเจนนี้ยังไม่เกิดการขยายตัวเป็นฟองในขณะที่เราอยู่ใต้น้ำ แต่เมื่อเราเริ่มขึ้นสู่ผิวน้ำ ฟองก๊าซไนโจนที่สะสมอยู่จะขยายตัวใหญ่ขึ้น และเกิดการสะสมในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้นการดำน้ำแบบสกูบ้า (Scuba) จึงต้องมีการพักน้ำระหว่างไดฟ์เป็นระยะเวลานานพอที่จะให้ร่างกายกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไปบ้าง หากนักดำน้ำอยู่ใต้น้ำนานมากๆ หรือลงน้ำต่อโดยที่ไม่พัก ก็จะเกิดการสะสมของก๊าซไนโตรเจนมากกว่าคนที่พักน้ำนานกว่า
แล้วทำไมถึงเกิดโรค DCS ล่ะ???
เมื่อก๊าซไนโตรเจนขยายตัวใหญ่ขึ้นและเกิดการสะสมไปที่เนื้อเยื่อต่างๆ แล้ว เมื่อมีปริมาณฟองก๊าซมากเกินกว่าที่จะมีที่ให้มันอยู่ มันก็จะค่อยไปสะสมตามข้อต่อต่างๆ ทำให้เกิดการปวดตามข้อ (Joint paint) หรือไปขวางทางเดินของเลือด ทำให้เกิดสภาวะอัมพาต (Paralysis) ได้ และถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้นในการดำน้ำแบบสกูบ้า นักดำน้ำควรจะมีคอมพิวเตอร์ดำน้ำ (Dive computer) เพื่อบ่งบอกระยะเวลาที่จะสามารถอยู่ในน้ำที่ระดับความลึกนั้นๆ (No Decompression Limit) ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสะสมของก๊าซไนโตรเจนมากเกินไป
ทั้งนี้นักดำน้ำแบบสกูบ้าจะมีการทำ Safety Stop โดยการหยุดที่ระยะประมาณ 5 เมตรเป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลากำจัดฟองก๊าซไนโตรเจนออกไปบ้าง ก่อนที่จะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำทันที เพราะเมื่อกลับขึ้นสู่ผิวน้ำแล้วไม่สามารถทำให้ฟองก๊าซเล็กลงได้ นอกจากจะเข้า Recompression หรือ Hyperbaric Chamber และฟองก๊าซที่มีขนาดยิ่งใหญ่ยิ่งทำให้ร่างกายกำจัดได้ช้าลง ดังนั้นร่างกายจะกำจัดฟองก๊าซที่ระดับความลึก 5 เมตร ได้ดีกว่าที่ผิวน้ำ
หากนักดำน้ำไม่มี Dive computer ก็ไม่ควรดำลึกกว่าไดฟ์ลีดเดอร์ เพราะยิ่งลงลึกความเข้นข้นของไนโตรเจนที่หายใจเข้าไปก็จะยิ่งมากตามความกดที่มากขึ้น
หากนักดำน้ำรีบขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็น DCS เพราะฟองก๊าซไนโตรเจนเกิดการขยายตัวออกอย่างรวดเร็วโดยที่ร่างกายไม่มีเวลาได้กำจัดนั่นเอง และสาเหตุนี้เองที่นักดำน้ำสกูบ้าไม่ควรจะดำฟรีไดฟ์ทันที ควรจะพักน้ำเป็นระยะเวลา 12-24 ชั่วโมง นอกจากนี้นักดำน้ำแบบสกูบ้าก็ไม่ควรจะขึ้นเครื่องบินภายใน 12-24 ชั่วโมง อีกด้วย เพราะยิ่งขึ้นที่สูง ฟองก๊าซก็จะยิ่งขยาย ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็น DCS สูง
ระยะเวลาพักน้ำ 12-24 ชั่วโมงนั้นขึ้นอยู่กับว่านักดำน้ำท่านนั้นดำสกูบ้ามาเยอะแค่ไหนในวันนั้นๆ หากดำน้ำหลายวันติดต่อกัน ก็จะมีการสะสมของก๊าซไนโตรเจนไปเรื่อยๆ
แล้วดำน้ำแบบฟรีไดฟ์มีโอกาสเป็น DCS ไหม??
คำตอบคือมีค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับความลึก ความถี่ในการลง และระยะเวลาพักน้ำระหว่างการดำแต่ละครั้ง (Surface interval) โดยส่วนมากจะเกิดกับนักฟรีไดฟ์ที่ดำลึกกว่า 20 เมตร มีเวลาพักน้ำน้อยกว่าที่ควร (อ่านบทความเกี่ยวกับการคำนวณเวลาพักน้ำได้ที่ https://www.zanookdive.com/เราจะหลีกเลี่ยงการ-black-out-และ/#more-25296)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีที่ นักฟรีไดฟ์แชมป์โลก “The deepest man on earth” Herbert Nitsch ได้พยายามทำลายสถิติของตัวเองโดยดำลงไปที่ความลึก 249.5 เมตร แต่เกิดอุบัติเหตุตอนขาขึ้น ทำให้เค้าไม่ได้ทำตามแผนที่วางไว้คือขึ้นอย่างช้าๆ จาก 100 เมตร ไป 70 เมตร และ ทำ Safety Stop ที่ 10 เมตร เป็นเวลา 1 นาที เนื่องจากเค้าหมดสติที่ระดับความลึก 100 เมตร เครื่องได้พาเค้าขึ้นมาที่ระดับ 10 เมตร ตามที่ได้โปรแกรมไว้ แต่ไม่ได้ลดความเร็วเพราะเค้าหมดสติและไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ เมื่อ Safety diver เห็นว่าเค้าขึ้นมาที่ 10 เมตร แบบไม่มีสติ จึงรีบพาเค้าขึ้นมาที่ผิวน้ำโดยที่ไม่ได้ทำ Safety Stop จึงเป็นสาเหตุให้เค้ามีอาการ DCS ขั้นรุนแรง (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.deeperblue.com/herbert-nitsch-talks-about-his-fateful-dive-and-recovery/)
จากตัวอย่างข้างต้นจึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า DCS สามารถเกิดได้กับนักฟรีไดฟ์เหมือนกัน ดังนั้นการดำฟรีไดฟ์ ไม่เพียงแต่ควรเรียนรู้วิธีการกลั้นหายใจอย่างถูกต้องแล้ว ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับการพักน้ำ และข้อควรระวังอื่นๆ ที่จะได้เรียนรู้ในหลักสูตรคอร์ส Freediving ของสถาบันต่างๆ อีกด้วยนะคะ และเมื่อเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังแล้วก็ไม่ควรจะฝ่าฝืนกฎต่างๆ เรานั้น เพราะอาจทำให้คุณมีอันตรายถึงชีวิตได้
• อาการของโรค DCS อาจรวมไปถึง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หมดแรง อิดโรย เจ็บตามข้อต่อ พูดไม่สะดวก เป็นอัมพาต ตาพร่ามัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
• ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิด DCS ได้แก่ ร่างกายขาดน้ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ ไขมันสะสมไนโตรเจนได้ดี ระยะเวลาที่อยู่ใต้น้ำ ระดับความลึก ความเร็วในการขึ้นสู่ผิวน้ำ ระยะเวลาพักน้ำ การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนดำน้ำ
• วิธีการรักษา คือการให้ออกซิเจน 100% และเข้าเครื่องลดแรงดัน (Recompression หรือ Hyperbaric Chamber) เท่านั้น
การดำน้ำทั้งแบบสกูบ้า และฟรีไดฟ์ เป็นกีฬาที่มีความเสี่ยง เราจึงควรปฏิบัติตามกฎ กติกาอย่างเคร่งครัด ห้ามประมาท และไม่ควรคิดว่าเราเก่งแล้วเด็ดขาด เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในวันที่เราดำน้ำน้ำร่างกายเราอ่อนแอหรือแข็งแรงเพียงใด
Zanook Freedive team
September 2019
หลักสูตรฟรีไดฟ์
https://web.facebook.com/pg/zanookdive/services/
สนใจสมัครเรียนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://web.facebook.com/zanookdive/inbox/
Line ID : @zanookdive
โทร. 0922419266
#freediving #freedive #apnea #ฟรีไดฟ์ #เรียนFreedivingกรุงเทพ #ฟรีไดฟ์กรุงเทพ #สอนฟรีไดฟ์ #ฟรีไดฟ์ใกล้บ้าน #FreedivingInBangkok #เรียนดำน้ำ #ดำน้ำ