เราจะหลีกเลี่ยงการ Black out และคำนวณเวลาพักน้ำได้อย่างไร

How to avoid black out and How to calculate surface interval time

เราจะหลีกเลี่ยงการ  Black out และคำนวณเวลาพักน้ำได้อย่างไร

สวัสดีค่ะ สืบเนื่องจากบทความที่แล้วมีคนสนใจเรื่อง Black out ค่อนข้างมาก วันนี้เราเลยจะขอแชร์ความรู้เรื่อง วิธีการหลีกเลี่ยงการเกิด Black out และการคำนวณเวลาพักน้ำค่ะ

วิธีการหลีกเลี่ยง Black out สามารถทำได้ดังนี้

  1. ไม่ทำ Hyperventilation เพราะจะทำให้ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่ำจนทำให้ Urge to breathe เกิดช้า ในขณะที่ระดับออกซิเจนลดต่ำเกินไปและเกิด Black out ก่อน Urge to breathe
  2. ค่อยๆ พัฒนาความสามารถของเราไปทีละนิด อย่าใจร้อนกับการฝึกเพื่อเพิ่มสถิติของตัวเองแบบก้าวกระโดด เพราะถ้าฝึกที่เกินขีดจำกัดร่างกายมากๆ อาจทำให้เกิด Black out ได้ ทั้งนี้สภาพร่างกายในวันที่ฝึกก็มีผลต่อการฝึกมาก สภาพร่างกายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ การพักผ่อนที่เพียงพอ อาหารเช้าที่เรารับประทาน ดื่มแอลกอฮอล์ในคืนก่อนหน้านั้นหรือไม่ อุณหภูมิของน้ำไม่เย็นหรือร้อนจนเกินไป และความแข็งแรงของร่างกาย
  3. การทำ Recovery breathe ที่ถูกต้อง และควรจะเกาะขอบสระ หรือทุ่น เพื่อพยุงร่างขณะทำ
  4. เวลาพักที่ผิวน้ำระหว่างไดฟ์ (Surface interval time) ซึ่งสามารถคำนวณได้ 2 วิธีดังนี้
    • เวลาพักน้ำ = 3-4 เท่า ของเวลาดำน้ำ (Dive time x 3)
    • เวลาพักน้ำ = ความลึก หารด้วย 5 (Max depth/5)

เมื่อคำนวณได้แล้วให้เอาเวลาที่มากกว่าเป็นตัวกำหนดเวลาพักน้ำของเราเพื่อความปลอดภัยค่ะ

การคำนวณเวลาพักน้ำของคนที่ใช้นาฬิกาจับเวลาทั่วไป อาจจะไม่ค่อยสะดวกเหมือนคนที่มีไดฟ์คอมพิวเตอร์ เพราะจะไม่มีฟังก์ชั่นของการจับเวลาแยกระหว่างใต้น้ำ (Dive time) และผิวน้ำ (Surface time) โดยไดฟ์คอมพิวเตอร์จะคำนวณเวลาแยกกันทันที่ที่แรงดัน (Pressure) เปลี่ยนไปจากแรงดันที่ผิวน้ำ นอกจากนี้ไดฟ์คอมพิวเตอร์ยังสามารถบอกความลึก และแสดงโพรไฟล์ของการดำน้ำแต่ละไดฟ์ให้เราดูได้อีกด้วย

ก๊าซที่เกี่ยวข้องกับการดำฟรีไดฟ์มี 3 ก๊าซหลักๆ ด้วยกันคือ 1.ไนโตรเจน (N2) 2. ออกซิเจน (O2) และ 3.คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ในขณะที่เราดำน้ำนั้น ก๊าซ N2 และ CO2 จะมากขึ้น ในขณะที่ O2 จะลดต่ำลง

ก๊าซ N2 ที่มากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงในการเกิด Decompression Sickness (DCS) ได้ ส่วนมากจะพบในนักดำน้ำแบบใช้ถังอากาศ และนักฟรีไดฟ์ที่ดำลึกกว่า 20 เมตรเป็นต้นไป และดำติดๆ กัน โรค DCS นี้อาจมีอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ดีรับการักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นการมีเวลาพักน้ำที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ขับก๊าซ N2 ออกมา ลดความเสี่ยงในการเป็น DCS ค่ะ

การมีเวลาพักน้ำที่เพียงพอจะช่วยรักษาระดับก๊าซ CO2 ให้อยู่ในปริมาณที่ปกติ จะทำให้ Urge to breathe ในการดำครั้งต่อไปไม่เกิดขึ้นเร็วจนเกินไป ทำให้เราอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น อาการของการมีก๊าซ CO2 มากๆ จะสังเกตุได้จากการปวดศีรษะ

และสุดท้าย การพักน้ำที่นานพอจะทำให้ร่างกายสามารถเติมก๊าซ O2 กลับเข้าไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงสมอง ทำให้สามารถกลั้นหายใจได้นาน และลดความเสี่ยงที่จะ Black out ในการดำน้ำครั้งต่อไปด้วยค่ะ

หวังว่าเกร็ดความรู้นี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่ชอบดำฟรีไดฟ์ นะคะ เทื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราสามารถคำนวณเวลาพักน้ำได้ ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยในการออกทริปทุกครั้ง ขอให้ทุกคนสนุกกับการดำฟรีไดฟ์ และอย่าลืมว่าห้ามดำคนเดียว NEVER DIVE ALONE นะจ๊ะ

สนใจอ่านบทความ Urge to breathe และบทความอื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.zanookdive.com/blog/

ดูรายละเอียดหลักสูตรฟรีไดฟ์ได้ที่ https://web.facebook.com/pg/zanookdive/services/

สนใจสมัครเรียนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://web.facebook.com/zanookdive/inbox/
Line ID : @zanookdive
โทร. 0922419266

สนใจอุปกรณ์ฟรีไดฟ์ดูได้ที่ www.freediveshopping.com

Zanook freedive team

September 2019